ดื่มน้ำอย่างไรให้สุขภาพดี

Last updated: 14 พ.ค. 2567  |  72 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ดื่มน้ำอย่างไรให้สุขภาพดี

น้ำ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมาก ๆ ในร่างกาย เพราะร่างกายมีน้ำเป็นส่วนประกอบกว่าร้อยละ 70 และยังเป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ทุก ๆ เซลล์ในร่างกาย ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกาย ช่วยลำเลียงอาหารที่ย่อยแล้วไปยังส่วนต่าง ๆ และช่วยในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เพราะฉะนั้นการ ดื่มน้ำ เป็นวิธีการสำคัญที่จำเป็นต้องทำ

 

หน้าที่ของน้ำในร่างกาย

ร่างกายของคนเรามีส่วนประกอบของน้ำซึ่งเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ โดยน้ำมีหน้าที่หลายอย่าง ดังนี้

  • เป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของเซลล์ทั่วร่างกาย
  • เป็นส่วนประกอบของเลือด น้ำเหลือง น้ำดี น้ำย่อยอาหาร เหงื่อ ปัสสาวะ และน้ำต่าง ๆ ทั่วร่างกาย
  • ทำหน้าที่ละลายอาหารที่ย่อยแล้วและแพร่ผ่านผนังหลอดเลือดที่ลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด
  • ทำหน้าที่เป็นตัวกลางนำอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ นำของเสียออกจากร่างกายผ่านทางอวัยวะต่าง ๆ เช่น ปอด ผิวหนัง ไต
  • ช่วยหล่อลื่นอวัยวะต่าง ๆ ให้มีการเคลื่อนไหวได้ดีและทำงานได้ตามปกติ เช่น น้ำในข้อต่อ ช่องท้อง ช่องปอด
  • ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ตลอดเวลา รวมทั้งทำให้ร่างกายสดชื่น

 

ทำไมต้อง ดื่มน้ำ

เนื่องจากในร่างกายของคนเรามีน้ำอยู่ในร่างกายประมาณร้อยละ 60-70 และในแต่ละวันร่างกายต้องสูญเสียน้ำประมาณวันละ 2 ลิตร ซึ่งขับออกมาทางปัสสาวะ เหงื่อ หรือลมหายใจ ปริมาณมากน้อยขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ ช่วงอายุ และน้ำหนักของแต่ละบุคคล ดังนั้นเราจึงต้องดื่มน้ำเพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร ร่างกายอาจมีการสูญเสียน้ำมากกว่าปกติได้หากมีการสูญเสียน้ำทางอื่น เช่น ท้องเสีย อากาศร้อนมากจนมีการระเหยน้ำทางลมหายใจและเสียเหงื่อมากขึ้น สำหรับผู้มีโรคประจำตัวบางชนิดอาจต้องมีการจำกัดน้ำ เนื่องจากร่างกายขับน้ำส่วนเกินได้น้อย เช่น กลุ่มผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ ผู้มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับปริมาณการบริโภคน้ำที่เหมาะสมกับตนเอง หากดื่มมากหรือน้อยเกินไปก็จะส่งผลต่อร่างกายได้ เมื่อร่างกายขาดน้ำ การทำงานของระบบอวัยวะต่าง ๆ จะติดขัด เมื่อร่างกายได้รับน้ำมากเกินไปจนเกิดภาวะน้ำเป็นพิษ เกิดการเสียสมดุลระหว่างน้ำในเซลล์และนอกเซลล์ ทำให้ความเข้มข้นของเลือดลดลง ร่างกายต้องขับแร่ธาตุบางชนิดออกจากเซลล์เพื่อปรับสมดุลของน้ำ อีกทั้งยังขาดความสมดุลของแร่ธาตุชนิดนั้นแทน ส่งผลให้เกิดความผิดปกติขึ้นในกระบวนการทำงานของเซลล์ ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

 

 ดื่มน้ำเปล่าอย่างไรถึงเพียงพอ

ควรดื่มน้ำเปล่าในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อทดแทนน้ำที่ร่างกายสูญเสียไป โดยมาตรฐานการดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว ก็เพียงพอต่อการทำงานของร่างกายของบุคคลทั่วไป แต่ความจริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น กิจกรรมที่เราทำในแต่ละวัน เพศ อายุ โรคประจำตัว ความร้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีส่วนกำหนดความเหมาะสมต่อการดื่มน้ำในแต่ละวันด้วยเช่นกัน

 

การ ดื่มน้ำ ที่ดี ช่วยลดการเกิดนิ่วได้จริงหรือ ?

น้ำดื่มที่สะอาดจะช่วยลดการเกิดนิ่วชนิดออกซาเลตในไต บรรเทาการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ ลดอาการท้องผูก น้ำสะอาดจะเร่งการขับสารพิษ และของเสียออกไป เมื่อดื่มน้ำที่เพียงพอต่อร่างกายน้ำจะไปช่วยหล่อลื่นข้อกระดูกต่าง ๆ ลดอาการปวดข้อ ปวดหลัง และปวดเอว

 

วิธีเลือกน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย

น้ำดื่มในปัจจุบันมีหลากหลายแบบจึงควรเลือกน้ำดื่มที่ผลิตจากบริษัทที่มีมาตรฐาน มีฉลากติดที่ขวด และมีสัญลักษณ์ ดังนี้

1.สัญลักษณ์และหมายเลข อย.
2.สัญลักษณ์ Good Manufacturing Practice (GMP)      
3.ตรามาตรฐาน Hazards Analysis and Critical Points (HACCP) ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากล

 

ดื่มน้ำ ชนิดอื่นทดแทนน้ำในร่างกายได้หรือไม่

เครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ เช่น น้ำอัดลม ชา กาแฟ เหล้า เบียร์ จะทำให้เกิดการขับน้ำออกจากร่างกายมากยิ่งขึ้น เพราะคาเฟอีนจะกระตุ้นการขับปัสสาวะ ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น และน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมในเครื่องดื่มเหล่านี้เป็นสาเหตุของระดับน้ำตาลในเลือดสูง อาจนำไปสู่โรคเบาหวานได้ ในผู้ป่วยเบาหวานที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากจะมีปัญหาการขับปัสสาวะมากกว่าปกติได้

ผู้ป่วยด้วยภาวะต่างๆ เช่น ข้อเข่าเสื่อม กลั้นปัสสาวะไม่ได้ สมองเสื่อม มีความลำบากในการลุกเข้าห้องน้ำทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรดื่มน้ำตามปกติ โดยอาจจัดเวลาดื่มน้ำเน้นในช่วงเวลากลางวัน และจัดสถานที่ปัสสาวะให้สะดวกมากขึ้น

น้ำแบบไหนสะอาดปลอดภัยทำให้สุขภาพดี

  1. เลือกน้ำดื่มที่ใส ไม่มีสี ไม่ขุ่น ไม่มีรส และไม่มีกลิ่น
    เลือกน้ำที่บรรจุภัณฑ์มีฝาปิดสนิท
  2. ดื่มน้ำแต่พอดีประมาณ 2 ลิตร หรือดื่มน้ำวันละ 8 แก้วต่อวัน สำหรับบุคคลทั่วไป ผู้ที่มีโรคไต โรคหัวใจ หรือมีโรคประจำตัวควร
  3. ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลถึงปริมาณการบริโภคน้ำที่เหมาะสมกับตนเอง
  4. เลือกน้ำดื่มที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกรมอนามัย มีเครื่องหมาย อย. หรือการรับรองมาตรฐานจาก NFS 

สารปนเปื้อนที่มากับน้ำไม่สะอาด ได้แก่

  • เหล็ก หากได้รับเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายทาง เช่น ระคายเคืองทางเดินอาหาร ในรายที่รุนแรงมีภาวะเลือดเป็นกรด หลอดเลือดขยายตัวทำให้ความดันเลือดลดลง การสะสมธาตุเหล็กเกินในระยะยาวส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บของตับได้
  • ปรอท เมื่อร่างกายมีปรอทสะสมอยู่ในปริมาณมากจะทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือส่งผลร้ายแรงต่อระบบประสาท เช่น ทำให้ตาพร่ามัว มองไม่ชัด ส่งผลต่อระบบประสาทด้านอารมณ์และความจำ มีภาวะสมองเสื่อมได้
  • แมงกานีส อาจปนเปื้อนมากับน้ำดื่มที่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะ ระคายเคืองทางเดินอาหารในระยะยาว ส่งผลต่อการบาดเจ็บของเซลล์สมองได้
  • ทองแดง หากร่างกายมีทองแดงสะสมเกินกว่า 100 มิลลิกรัม จะส่งผลให้ระคายเคืองทางเดินอาหาร อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาเจียน ในรายที่รุนแรงอาจมีเม็ดเลือดแดงแตกและส่งผลถึงการทำงานของตับ
  • เชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับน้ำไม่สะอาดโดยเฉพาะเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรีย เช่น เชื้ออีโคไล ซิโตรแบคเตอร์ เคลบเซลล่า หากมีเชื้อโรคเหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ ทำให้มีไข้ ปวดท้อง ท้องเสีย การฆ่าเชื้อโรคกลุ่มนี้สามารถทำได้โดยกระบวนการฆ่าเชื้อต่าง ๆ เช่น การต้มน้ำ กระบวนการพาสเจอไรซ์ หรือผ่านระบบกรองน้ำที่มีระบบฆ่าเชื้อที่มีประสิทธิภาพ

แม้ว่าน้ำเปล่าจะมีข้อดีมากมาย แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่า เพราะไม่ชอบรสชาติที่จืดชืด โดยหันไปดื่มน้ำชนิดอื่น ๆ ที่มีรสชาติหวานอร่อยแทน เช่น น้ำอัดลม ชานมไข่มุก ชา กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำหวาน แต่เพื่อสุขภาพที่ดีการดื่มน้ำเปล่าให้เป็นนิสัยจะเป็นหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ร่างกายของคุณดีขึ้น


ข้อมูลจาก ผศ. นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ 
สาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก 
ภาควิชาอายุรศาสตร์ 
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี 
มหาวิทยาลัยมหิดล

ข้อมูลจาก ดื่มน้ำอย่างไรให้สุขภาพดี https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3-%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%87-%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%88/

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้